ทุกวันนี้ คอนเทนต์ (Content) หรือเนื้อหา ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดผ่านรูปแบบต่าง ๆ เพื่อใช้เชื่อมโยงแบรนด์ หรือธุรกิจขององค์กรกับกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์, โซเชียลมีเดีย หรือการทำคอนเทนต์ไวรัลต่าง ๆ เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้แบรนด์ หรือสินค้าให้มีคนรู้จักมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะการทำ การตลาดดิจิทัล (Digital Maketing) หรือการทำ ธุรกิจ SME การทำ Content Maketing สามารถให้ผลลัพธ์ที่ดี เพราะแบรนด์ หรือสินค้าจะได้เป็นที่รู้จัก หากมีการใช้คอนเทนต์ และการโปรโมตที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ หรือกลุ่มเป้าหมาย ก็จะช่วยตอบจุดประสงค์ของแบรนด์ หรือธุรกิจได้นั่นเอง
เริ่มต้นทำคอนเทนต์อย่างไร ?
เชื่อว่านักการตลาด หรือผู้ที่กำลังจะเริ่มต้นทำธุรกิจ คงจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า คอนเทนต์ คืออะไร ? และเห็นถึงความสำคัญของคอนเทนต์กันแล้ว แต่อาจจะกำลังลังเลอยู่ว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไรดี ? และสิ่งที่ทำให้ยังไม่ได้เริ่มสร้างคอนเทนต์ คือ ความกลัว กลัวคิดไม่ออก กลัวเขียนไม่ได้ กลัวคนไม่ถูกใจ ทำให้ความกลัวกลายเป็นกรอบ เพราะฉะนั้นการทำคอนเทนต์ จำเป็นต้องมีความกล้าที่จะทำ และหากเข้าใจหลักการของการสร้างคอนเทนต์ ก็จะยิ่งทำให้สามารถสร้างคอนเทนต์ที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น
หลักในการทำคอนเทนต์ประกอบไปด้วย 5 ส่วน
1. ข้อมูล
ข้อมูลสำหรับข้อมูลเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมาก ซึ่งข้อมูลในที่นี้ คือ สิ่งที่แบรนด์ หรือองค์กรต้องการจะสื่อสารลงไปในคอนเทนต์ เช่น หากเป็นสินค้า ทางแบรนด์ หรือเจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องมีความรู้ และทราบรายละเอียดของสินค้า รวมถึงเตรียมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อที่นำไปทำคอนเทนต์ และใช้สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย
2. เป้าหมายของข้อมูล
ก่อนที่จะสร้างคอนเทนต์เมื่อมีข้อมูลแล้ว ควรกำหนดเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าเป็นการทำคอนเทนต์เพื่ออะไร มีประโยชน์ต่อผู้สร้างคอนเทนต์กับผู้รับข้อมูลอย่างไร ที่สำคัญ คือ มีใครได้อะไรจากคอนเทนต์บ้าง ซึ่งประโยชน์ของคอนเทนต์ คือ การสร้างการรับรู้ หากเป็นแบรนด์ หรือธุรกิจ SME ก็จะทำให้เป็นที่รู้จัก สร้างความน่าเชื่อถือ เมื่อผู้รับข้อมูล หรือผู้บริโภคเข้าใจถึงประโยชน์ ก็จะช่วยให้การตัดสินใจเลือกแบรนด์ หรือใช้บริการของธุรกิจเหล่านั้นได้ง่ายขึ้น
3. ผู้รับข้อมูล
การกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นสิ่งที่ช่วยให้สามารถทำคอนเทนต์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับผู้รับข้อมูล และเป็นประโยชน์ได้อย่างชัดเจน ซึ่งหากเป็นเจ้าของแบรนด์ หรือเจ้าของธุรกิจสามารถหาข้อมูลของผู้เยี่ยมจากโซเชียลมีเดียที่มีอยู่แล้วได้ง่าย หรือสามารถค้นหาจากสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้ ทำให้ทราบความคิดเห็น ความสนใจ และความต้องการ รวมถึงเห็นปัญหาที่กลุ่มเป้าหมายพบเจอ
โดยข้อมูลทั้งหมดที่ได้ให้นำมาสร้าง Persona หรือตัวละครสมมติที่เป็นการกำหนดกลุ่มเป้าหมายในอุดมคติขอเราขึ้นมาว่ามีความต้องการอะไร เพื่อที่จะทำคอนเทนต์ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง
4. รูปแบบของคอนเทนต์
ในปัจจุบันรูปแบบของคอนเทนต์มีหลายรูปแบบ ซึ่งอาจแบ่งคอนเทนต์ตามลักษณะของการผลิตได้ดังนี้
- คอนเทนต์ประเภทตัวอักษร (เขียน): จะเป็นคอนเทนต์ที่สื่อสารผ่านตัวอักษร เช่น บทความบนบล็อก หรือเว็บไซต์
- คอนเทนต์ประเภทเสียง (คำพูด): จะเป็นคอนเทนต์ที่ใช้เสียงในการสื่อสาร และเป็นคอนเทนต์คำพูดอย่างโฆษณา, วิทยุ และ Podcast ที่สามารถสื่อสารกับอารมณ์ของผู้พูดได้พร้อมกับข้อมูลต่าง ๆ
- คอนเทนต์ประเภทภาพ: ซึ่งถือเป็นเป็นคอนเทนต์ภาพที่หลายคนยอมรับว่าสามารถสื่อสารได้ดีกว่าคำพูด เช่น ภาพโฆษณา และอินโฟกราฟิก
- คอนเทนต์ประเภทวิดีโอ: เป็นรูปแบบคอนเทนต์ที่รวบรวมของทั้งภาพ, เสียง และตัวอักษรเข้าด้วยกัน เช่น วิดีโอบนเว็บไซต์ หรือคลิปวิดีโอในโซเชียลมีเดีย
5. ช่องทางการสื่อสารคอนเทนต์
นอกเหนือจากการสร้างคอนเทนต์ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย การเลือกช่องทางการเผยแพร่คอนเทนต์ หรือแพลตฟอร์มให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะทำให้เสริมพลังของคอนเทนต์ที่เราสร้างมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะมี 5 แพลตฟอร์มที่มีจุดเด่นน่าสนใจ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจ SME ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- Facebook: ถือได้ว่าเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลที่มีผู้ใช้งานเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ทำให้สามารถติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของเพื่อนผ่านฟีดข่าวได้ โดย Facebook สามารถทำการลงโฆษณาเพื่อโปรโมทสินค้า หรือทำการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ Facebook Ads ได้ ทำให้สามารถเจาะกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง ที่สำคัญยังสามารถแชร์โพสต์, รูปภาพ, วิดีโอ และ Live ทำให้มีการรับรู้คอนเทนต์ หรือตัวสินค้าเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
- Instagram: เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่สามารถเชื่อมโยงกับ Facebook ได้ ทำการจัดการระบบหลังบ้านต่าง ๆ ทำได้ง่ายขึ้น โดย Instagram หรือ IG (ไอจี) จะเน้นการนำเสนอคอนเทนต์ในรูปแบบของรูปภาพ หรือวิดีโอขนาดสั้น สามารถควบคุมภาพลักษณ์หรือคอนเซปต์ของแบรนด์ได้ง่าย ที่สำคัญสามารถใช้แฮชแทก (#) เพื่อทำให้การค้นหาง่ายขึ้น
- Line: แพลตฟอร์มที่ครอบคลุมทุกการใช้งานไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความ, การโทร หรือวิดีโอคอล ทำให้การส่งคอนเทนต์ หรือข้อความต่าง ๆ ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างสะดวก โดยเฉพาะฟีเจอร์ Line OA (Line Official Account) ที่ทำให้สามารถ Broadcast คอนเทนต์ หรือโปรโมชั่นได้ง่าย ๆ
- TikTok: แพลตฟอร์มยอดฮิตที่มาแรงที่สุดหลังจากช่วงโควิดที่ผ่านมา โดย TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่มีกลุ่มเป้าหมายหลัก คือ กลุ่มผู้ใช้งาน Gen Z ซึ่งทำให้แบรนด์สินค้าสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยง่าย เหมาะกับคอนเทนต์วิดีโอสั้น ๆ มีความสร้างสรรค์ รวมถึงยังมีความน่าจดจำ เพราะไม่เพียงเป็นการให้ข้อมูล หรือความรู้ แต่ยังสามารถสร้างความบันเทิงได้อีกด้วย
- YouTube: เมื่อพูดถึงแพลตฟอร์มวิดีโอ แน่นอนว่า YouTube ถือเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ทุกช่วงอายุ และมีคอนเทนต์ให้เลือกติดตามได้อย่างหลากหลาย ซึ่งปัจจุบัน ก็มีธุรกิจหลายแบรนด์หันมาทำคอนเทนต์ใน YouTube มากยิ่งขึ้น เพราะสามารถผลิตคอนเทนต์ได้ง่าย และสะดวก โดยเนื้อหาสามารถใช้โปรโมทเพื่อสร้างการรับรู้ หรือประชาสัมพันธ์สินค้า และบริการได้
- Blog หรือ Website: ปัจจุบันการเขียนบทความผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ ก็ยังคงได้รับความนิยม เนื่องจากมีการค้นหาที่ง่าย เพียงเข้าเว็บไซต์ ก็สามารถพิมพ์ค้นหาคำ หรือข้อมูลที่ต้องการค้นหาได้ในทันที หากเป็นคอนเทนต์ หรือการเขียนบทความ SEO หรือมีคีย์เวิร์ดที่ตรง ก็จะทำให้ติดอันดับการค้นหาได้ง่ายขึ้น
ขั้นตอนการลงมือทำคอนเทนต์
เมื่อถึงขั้นตอนการลงมือทำ เชื่อว่าหากคิดเร็ว และลงมือทำเร็วเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ควรรีบร้อนจนเกินไป จึงควรไตร่ตรองของข้อมูลในการทำคอนเทนต์อย่างรอบคอบไม่ว่าจะเป็นข้อมูล, กลุ่มเป้าหมาย หรือรูปแบบของคอนเทนต์ ซึ่งหากผู้ผลิตคอนเทนต์เข้าใจถึงองค์ประกอบหลักของการทำคอนเทนต์แล้ว การผลิตคอนเทนต์ให้มีประสิทธิภาพ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป โดยมีขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้
- ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน: โดยการทำคอนเทนต์ต้องมีเป้าหมายชัดเจนว่าทำเพื่ออะไร มีกลุ่มเป้าหมายเป็นใคร และกำหนดลงในแพลตฟอร์มไหน
- วางแผนการทำคอนเทนต์: การวางแผนการทำงานจะช่วยให้มองเห็นภาพรวมของคอนเทนต์ และที่สำคัญยังสามารถทำให้การดำเนินการทำงานเป็นไปได้อย่างคล่องตัว และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
- ค้นคว้าหาไอเดีย: สิ่งที่ยากที่สุดในการคิด หรือลงมือทำคอนเทนต์นั่นก็คือ การหาไอเดียใหม่ ๆ โดยแบรนด์ หรือผู้ประกอบธุรกิจจำเป็นต้องหาไอเดียเพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับตนเอง แต่การค้นคว้าหาข้อมูลปัจจุบัน ก็สามารถใช้แพลตฟอร์มจากโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ได้
- ลงมือทำ: เมื่อกำหนดแนวทาง และจัดเตรียมข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถลงมือผลิตคอนเทนต์ได้เลยทันที ที่สำคัญอย่าหลุดกรอบจากแนวทางการทำคอนเทนต์ที่ตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการทำคอนเทนต์
- ตรวจเช็กก่อนเผยแพร่ และติดตามผล: ก่อนเผยแพร่คอนเทนต์ควรวิเคราะห์ถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นทั้งการใช้ข้อความ หรือรูปภาพว่าจะส่งผลดี หรือผลเสียอย่างไรตามมาบ้าง เพื่อไม่ให้กระทบแบรนด์ หรือการทำธุรกิจ นอกจากนี้การติดตามผลลัพธ์ ก็เป็นสิ่งสำคัญ หากเป็นแบรนด์ หรือธุรกิจ ก็สามารถวัดจากความคิดเห็นของกลุ่มเป้าหมาย หรือยอดขายได้
หากแบรนด์ หรือเจ้าของธุรกิจที่กำลังวางแผนการทำคอนเทนต์กำลังอยากเริ่มหันมาทำคอนเทนต์ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นยังไงดี เชื่อว่าบทความนี้ เป็นวิธีง่าย ๆ ที่ทุก ๆ คนสามารถนำไปปรับใช้ทำคอนเทนต์ต่าง ๆ ให้เหมาะกับรูปแบบของตัวเองได้ และแน่นอนว่ายังสามารถนำมาปรับใช้เป็น ไอเดียทำคอนเทนต์สำหรับธุรกิจ SME เพื่อสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้ดึงดูดใจ เพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้ชมคอนเทนต์ได้อีกด้วย