อยากเป็น “นักเขียนบทความมืออาชีพ” ต้องทำยังไง?

“อาชีพนักเขียนบทความ” มีด้วยหรอ แล้วต้องเริ่มยังไงบ้าง?
ในยุคดิจิทัลแบบนี้ การสื่อสารบนโลกอินเตอร์เน็ตเป็นสิ่งจำเป็นและมีอิทธิพลมากในปัจจุบัน ทำให้มีอาชีพที่เกิดขึ้นใหม่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ฟรีแลนซ์ด้านการออกแบบกราฟฟิก ฟรีแลนซ์ด้านการแปลอักษร รวมถึงฟรีแลนซ์ด้านการเขียนบทความ ที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักกันอีกด้วย

และอาชีพนักเขียนบทความนี้ เรียกได้ว่าเป็นอาชีพที่มีเสน่และมีข้อดีเยอะแยะมากมายเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็น ได้พัฒนาความรู้ความสามารถของตัวเองอยู่ตลอดเวลา ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สามารถกำหนดเวลาทำงานเองได้ ไม่ต้องตื่นเช้า ไม่ต้องเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ และสามารถสร้างรายได้จากเวลาว่างได้อีกด้วย!

แล้วถ้าสนใจอยากเป็นนักเขียนบทความแต่ยังไม่เคยเขียนล่ะ จะเริ่มยังไงดี การเป็นนักเขียนบทความจะยากไหมนะ?

บอกตรงนี้เลยนะคะ ไม่มีอะไรยากเกินความสามารถของเราค่ะ และแน่นอนไม่มีใครเก่งตั้งแต่เกิด ตัวเราเองที่กำลังเขียนบทความให้ทุกคนอ่านอยู่ก็ไม่เก่งค่ะ ไม่ได้จบอักษรศาสตร์มา และคิดว่าเรายังต้องเรียนรู้อีกเยอะเลย แต่เราก็ค่อยๆเรียนรู้ เก็บประสบการณ์ไปเรื่อยๆค่ะ แล้วคิดว่าเพื่อนๆทุกคนที่อยากเขียนบทความก็สามารถทำได้เช่นกัน

ลองอ่านเทคนิคด้านล่างนี้ดูนะคะ เราคิดว่าสามารถช่วยให้นักเขียนมือใหม่สามารถเป็นนักเขียนมืออาชีพได้อย่างแน่นอน สู้ๆนะคะ! :D

1. มีความตั้งใจและเป้าหมายที่ชัดเจน

ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า “ความตั้งใจและการมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนจะทำให้ทุกอย่างที่ทำออกมาดี” และนั่นก็เป็นความจริงค่ะ เพราะไม่ว่าเราจะเริ่มทำสิ่งใดก็ตามหากเรามีความตั้งใจ ก็จะส่งผลให้งานออกมาดี ใส่ใจกับการเขียนในทุกๆขั้นตอน ใคว่คว้าหาข้อมูลเพื่อให้บทความมีเนื้อหาสาระที่ดีและน่าสนใจอยู่เสมอ และก็ยังช่วยทำให้ประสบความสำเร็จเร็วขึ้นอีกด้วยค่ะ

2. ศึกษาด้าน SEO และ Inbound Marketing เบื้องต้น

อย่างที่บอกไปในข้อแรกแล้วว่า เมื่อมีความตั้งใจ อะไรๆก็จะออกมาดี ในส่วนนี้เมื่อเราตั้งใจแล้ว เราควรให้เวลากับการศึกษาแก่นแท้ของการเขียนบทความเพิ่มด้วย เพราะจะช่วยทำให้เรามองเห็นภาพรวมออกว่า จุดประสงค์ในการเขียนบทความนั้นคืออะไร ภาษาที่ใช้ควรเป็นอย่างไร และเขียนมาเพื่อให้ลูกค้ากลุ่มไหนอ่าน ในจุดนี้ถือว่าเราจะได้เปรียบนักเขียนมือใหม่ด้วยกันเยอะเลยนะคะ เพราะตอนที่เราเริ่มต้นเขียนบทความ เราไม่รู้ว่า จุดประสงค์ในการเขียนนั้น เขียนไปเพื่ออะไร มันทำให้ภาพไม่ชัดเจน แต่พอเราได้มาศีกษาด้าน Inbound Marketing มันทำให้เราร้อง อ๋อ! เลยค่ะ อารมณ์ประมานว่า ก็งมอยู่ตั้งนาน ไม่เห็นมีใครบอกเลย ฮ่าๆๆ หลังจากนั้นเขียนงานได้เร็วขึ้นและตรงจุดมากขึ้น แถมยังทำให้การเขียนบทความมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วยนะคะ

3. อ่านๆๆๆๆ อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า อ่านวนไปเลยค่ะ!

“ยิ่งอ่านยิ่งได้ ยิ่งเก็บประสบการณ์ยิ่งเก่ง” ดังนั้น ไม่ว่าจะเจออะไร หนังสือ เรื่องสั้น หรือบทความที่แชร์กันตามโซเชียลและเว็บต่างๆ อ่านให้หมดค่ะ เพราะเมื่อเรามาเป็นนักเขียนแบบจริงจังแล้ว มุมมองในการอ่านของเราจะเปลี่ยนไปจากคนอ่านทั่วไป เป็นการเก็บเทคนิคต่างๆจากนักเขียนเก่งๆทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ภาษา การลำดับเหตุการณ์ มุมมองการเล่าเรื่อง รวมถึงมุขต่างๆ และนำมาปรับใช้กับการเขียนบทความของเราได้ เพื่อเพิ่มอรรถรสและทำให้บทความของเราน่าอ่าน และเป็นที่น่าจดจำมากยิ่งขึ้นค่ะ

4. มีมุมมอง เทคนิค และมุขใหม่ๆ ในการเขียนบทความอยู่เสมอ

ถ้าคุณเปิดมาเจอบทความที่เขียนเหมือนๆกันหมด ไม่ว่าจะเป็น ประโยคสุดคลาสสิก “ในปัจจุบันนี้…” “คุณเคยสงสัยไหม…?” รวมไปถึงการเล่าเรื่องหรือการเขียนในรูปแบบเดิมๆ คุณจะเบื่อและไม่มีอรรถรสกับการอ่านใช่ไหมคะ ขนาดเรายังเบื่อเลย #คนอ่านก็เช่นกัน เพราะความรู้สึกจะเหมือนตอนอ่าน Textbook เพื่อไปสอบ พอสอบเสร็จแล้วเราก็ลืม บทความก็เช่นกันค่ะ เมื่อเรามีแต่เนื้อหา หรือการเล่าเรื่องแบบเดิมๆ บทความก็จะไม่น่าจดจำ ดังนั้น การเป็นนักเขียนมืออาชีพนั้น ควรจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีเขียนใหม่ๆอยู่เสมอ อัพเดทข่าวสารใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา มีความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงถ้าเป็นบทความที่ไม่ได้เคร่งเครียดมาก หรือไม่ได้เป็นวิชาการจ๋า เราก็สามารถใส่คำศัพย์วัยรุ่นๆที่กำลังฮิตในช่วงนั้นๆเข้าไปสอดแทรกในบทความของเราได้เช่นกันนะคะ เพื่อทำให้บทความของเรานั้นเข้าถึงและใกล้ชิดกับผู้อ่านมากขึ้น ทำให้บทความเป็นที่น่าจดจำ แถมยังน่ารักมากเวอร์อีกด้วยค่ะ ^^

5. พัฒนาฝีมือตัวเองอยู่เสมอ

เคยได้ยินคำว่า “การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด” ไหมคะ? ไม่ว่าเราจะอายุเท่าไหร่ ทำงานอะไร เป็นนักเรียน นักศึกษา ครู หมอ หรืออาชีพอะไรก็ตาม เราทุกคนก็ต้องฝึกฝนและพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาค่ะ และห้ามคิดว่าเราเก่งแล้ว หรือเก่งที่สุดเด็ดขาด เพราะการบอกว่าเราเก่งนั้นจะเป็นการสะกัดกั้นการเรียนรู้ของเราทันที แบบที่เราไม่รู้ตัวเลยล่ะค่ะ ดังนั้นหากเราคิดว่าเราเก่งขึ้นจากเมื่อก่อนเยอะมากแล้ว ให้มองว่าเรายังสามารถพัฒนาและเก่งขึ้นได้อีกค่ะ เรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาตัวเองต่อไปนะคะ (เรากำลังบอกตัวเองด้วย สู้ๆนะคะ เรียนรู้ไปด้วยกันค่ะ ^^)

6. ยอมรับข้อบกพร่องของตัวเอง

ไม่ว่าเราจะรู้สึกเก่งขึ้น หรือมั่นใจแค่ไหนว่าผลงานที่เราทำออกมาดีแล้ว เราก็จำเป็นต้องรับฟังคำติชมต่างๆ ไม่ว่าจากลูกค้า เจ้านาย รวมถึงคนอ่านคนอื่นๆอีกด้วย เพราะบางทีในมุมมองคนเขียนเราอาจจะมองข้ามจุดสำคัญหรือข้อบกพร่องต่างๆของเราไป แต่สำหรับผู้อ่านแล้วจะมองเห็นมุมมองที่แตกต่างออกไป ดังนั้น รับฟังและแก้ไขผลงานให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆนะคะ

สิ่งที่เรารวบรวมมาด้านบนนี้ เราคิดว่าเป็นประโยชน์และครอบคุมสิ่งที่จะทำให้เราทุกคนเป็นนักเขียนมืออาชีพได้ง่ายๆเลยค่ะ หรือหากเพื่อนๆคิดว่ามีอะไรที่อยากเพิ่มเติม และคิดว่าเป็นประโยชน์กับเพื่อนนักเขียนคนอื่นๆ คอมเม้นไว้ด้านล่างได้เลยนะคะ

เรียนรู้ และทำซ้ำไปเรื่อยๆ อ่านวนไป ฝึกฝนวนไป แก้ไข เก็บประสบการณ์ไปเรื่อยๆ เหมือนสำนวน “Practice Makes Perfect” หรือที่แปลว่า การฝึกฝนทำให้เราชำนาญ และไม่มีอะไรที่ยากเกินความสามารถของเราค่ะ บางทีตัวเราอาจคิดว่ามันเป็นเพียงจุดเล็กๆ แต่ถ้าเราก้าวข้ามจุดเล็กๆไปเรื่อยๆ ทีละก้าวๆ เราจะเป็นนักเขียนมืออาชีพโดยไม่รู้ตัวเลยนะคะ หรือมารู้ตัวอีกที อาจเป็นนักเขียนมืออาชีพที่พัฒนาแบบก้าวกระโดดเลยก็ได้ค่ะ สำหรับเพื่อนๆที่เข้ามาอ่านแล้ว คิดว่าบทความด้านบนเป็นประโยชน์กับคุณอย่าลืมคอมเม้น กดไลค์ หรือแชร์เพื่อเป็นกำลังใจให้กับนักเขียนมือใหม่ที่อยากเป็นมืออาชีพคนนี้ด้วยนะคะ ^^

Scroll to Top