Content Strategy เป็นการวางกลยุทธ์ในการทำ Content เพื่อให้สามารถสร้าง Content ไปสู่ผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมายได้ตามที่ต้องการและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ สามารถตอบโจทย์ธุรกิจหรือแบรนด์ได้ ซึ่งนักการตลาดแต่ละคน แต่ละบริษัทต่างก็กลยุทธ์ที่แตกต่างกันออกไป และ Hero Hub Help ก็เหมือนอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการทำ Content ซึ่งได้รับการแนะนำโดย Youtube เวบไซต์เผยแพร่ Content ประเภท Video ที่โด่งดังนั่นเอง

เหตุผลที่ Youtube คิดค้น Hero Hub Help ขึ้นมานั่นก็เพื่อให้ผู้ที่ทำ Video ลงใน Youtube ได้มีกลยุทธ์ในการสร้างและเผยแพร่ Content รูปแบบ Video เพื่อให้ Youtube ได้มี Content แบบ Video เผยแพร่จำนวนมาก และหากเป็น Video ที่ดีมีคนดูเยอะๆ ก็ยิ่งดีกับ Youtube นั่นเอง เราลองมาดูกันว่ากลยุทธ์แบบ Hero Hub Help ของ Youtube นั้น ดีหรือไม่อย่างไร แล้วอะไรคือข้อดีข้อเสีย เหมาะหรือไม่เหมาะกับธุรกิจหรือแบรนด์ของเรา

Hero Content

ความหมายก็ตามชื่อเลยคือเล่นใหญ่แบบ Hero เข้ามาช่วย เขามากอบกู้ หรือวัตถุประสงค์ที่ต้องการการตอบสนองสูง อย่างเช่นการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ แคมเปญเพื่อแก้ไขจุดบอดของแบรนด์ หรือดึงดูดผู้บริโภคจำนวนมาก เราจะใช้ Hero Content

การทำ Hero Content ต้องผ่านกระบวนการคิดหลายขั้นตอน ใช้ทีมงานจำนวนมาก เป็นงานที่ลงทุนสูงเพื่อเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ สื่อสารให้กับคนในวงกว้าง และต้องการผลลัพธ์เป็นปริมาณมาก นั่นก็คือหากคุณสร้าง Hero Content เพื่อสร้างยอดขาย ต้องเป็นการสร้างยอดหลายจำนวนมหาศาล Hero Content จึงเป็นการลงทุนสูง เพื่อหวังผลลัพธ์ที่สูงกว่าด้วย เพราะฉะนั้นหากมันปัง! แบรนด์หรือธุรกิจนั้นก็ปังเช่นเดียวกัน แต่ถ้ามันพังแล้วงบประมาณคุณไม่มากพอ คุณก็พังหรือหายไปเลยก็ได้ Hero Content จึงมีความเสี่ยงสูง ซึ่งผู้ที่จะทำก็ต้องประเมินความเสี่ยงนี้ด้วย เพราะหากคุณเป็น SME หรือ Start up ที่มีงบประมาณทางการตลาดแบบจำกัด Hero Content อาจจะเสี่ยงเกินไปสำหรับคุณ เพราะถ้าหากมันไม่เป็นไปตามที่หวัง คุณอาจจะไม่เหลืองบประมาณในการทำ Content อื่นเลย

Hub Content

Hub Content เป็น Content ที่เราจะเห็นอยู่ทั่วไป คือการทำ Content แบบสม่ำเสมอ มาเรื่อยๆ เพื่อให้ผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมายยังเห็นแบรนด์หรือธุรกิจของเราเคลื่อนไหวอยู่อย่างต่อเนื่อง หากเป็น Video ใน youtube ก็อย่างเช่นรายการพาเที่ยวในจังหวัดต่างๆ หรือวิดิโอรีวิวสินค้าในธุรกิจของคุณอย่างต่อเนื่อง สลับหมุนเวียนกันไป หรือ  Content อะไรก็ได้ที่ยังทำให้คุณโผล่มาทักทายกลุ่มเป้าหมายของคุณอย่างต่อเนื่อง Hup  Content ค่อนข้างเป็นมิตรกับธุรกิจประเภท SME และ Start up เพียงแต่ต้องอาศัยความสม่ำเสมอเท่านั้นเอง

ข้อดีของ Hub Content ก็คือ ไม่เสี่ยงเท่า Hero content และก็มีความเป็นไปได้ว่า Content ใด Content หนึ่งที่คุณทำอย่างสม่ำเสมอนั้น อาจจะปัง! ขึ้นมาและได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ากับคุณได้ แต่ถึงแม้ว่ามันจะไม่ปัง มันก็ยังทำให้ธุรกิจหรือแบรนด์ของคุณได้ยังอยู่ในสายตาของกลุ่มเป้าหมายหรือผู้บริโภคได้อย่างเรื่อยๆ

Help Content

Help Content มีความคล้ายคลึงกับ Hub Content แต่ค่อนข้างเฉพาะทางกว่า คือเป็น Content ที่เน้นการแก้ปัญหา หรือช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมายหรือผู้บริโภคโดยเฉพาะ เป็น Content ที่อาจจะไม่ลงทุนสูง แต่ต้องช่วยแก้ปัญหาให้ตรงจุด ซึ่งอาจจะต้องวิเคราะห์ก่อนว่ากลุ่มผู้บริโภคนั้นกำลังมีปัญหาอะไร และสินค้าหรือบริการของเราจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร หากสามารถทำได้อย่างตรงจุด ก็จะเป็น Content ที่นั่งอยู่ในใจผู้บริโภคได้ไม่ยาก และยังไม่เสี่ยงเท่า Hero content อีกด้วย ยิ่งถ้าแบรนด์สามารถแก้ปัญหาให้กลุ่มเป้าหมายได้อย่างเข้าใจมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งนั่งอยู่ในใจของกลุ่มเป้าหมายได้มากเท่านั้น

แล้วต้องใช้ Hero Hub Help อย่างไร

การใช้งานก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของธุรกิจและแบรนด์ของคุณ ไม่จำเป็นว่าต้องเปิดตัวแบบปังๆ ด้วย Hero Content แล้วสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่องด้วย Hub content ผสมผสานกับ Help Content เสมอไป

เพราะคุณสามารถเปิดตัวและทำ Content อย่างต่อเนื่องด้วย Hub Content และ Help Content  ไปพร้อมๆกันก็ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับแบรนด์ของคุณนั่นเอง  นอกเสียจากว่าคุณจะประเมินแล้วว่าการทำ Hero Content นั้น คุ้มค่ากับความเสี่ยง และคุณสามารถรับกับความเสี่ยงนั้นได้ ก็สามารถใช้ทั้ง Hero Hub Help ทั้งสามตัวปะปนกันไปได้